เซอร์ เฟรเดอริก กาวแลนด์ ฮ็อปกินส์ (อังกฤษ: Frederick Gowland Hopkins; 20 มิถุนายน ค.ศ. 1861 – 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1947) เป็นนักชีวเคมีชาวอังกฤษ เป็นหนึ่งในผู้ค้นพบวิตามินและค้นพบทริปโตเฟนในปี ค.ศ. 1901 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ร่วมกับคริสตียาน ไอก์มัน ในปี ค.ศ. 1929
เฟรเดอริก กาวแลนด์ ฮ็อปกินส์เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1861 ที่เมืองอีสต์บอร์น ประเทศอังกฤษ เรียนที่โรงเรียนนครลอนดอน ก่อนจะเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอน หลักสูตรนานาชาติและโรงเรียนแพทย์ของโรงพยาบาลกายส์ หลังเรียนจบเขาเป็นอาจารย์สอนสรีรวิทยาและพิษวิทยาที่โรงพยาบาลกายส์
ในปี ค.ศ. 1898 ฮ็อปกินส์แต่งงานกับเจสซี แอนน์ สตีเฟนส์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน ในปีเดียวกันเขาได้รับคำเชิญจากเซอร์ ไมเคิล ฟอสเตอร์ให้มาร่วมงานที่ห้องปฏิบัติการในเคมบริดจ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1914 ฮ็อปกินส์ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาเป็นศาสตราจารย์คนแรกของสาขาวิชานี้
ฮ็อปกินส์เป็นผู้หนึ่งที่ศึกษาว่าเซลล์ได้รับพลังงานอย่างไรจากกระบวนการเมตาบอลิซึม การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกรดแลกติกกับการหดตัวของกล้ามเนื้อในปี ค.ศ. 1907 ร่วมกับเซอร์ วอลเตอร์ มอร์ลีย์ เฟล็ตเชอร์ ทำให้ทราบว่าการลดลงของออกซิเจนมีผลสะสมของกรดแลกติกในกล้ามเนื้อ ผลงานนี้ช่วยให้อาร์คิบัลด์ ฮิลล์และออตโต ฟริตซ์ เมเยอร์ฮอฟค้นพบวัฏจักรของคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของกล้ามเนื้อ
ในปี ค.ศ. 1912 ฮ็อปกินส์ตีพิมพ์ผลงานการทดลองให้อาหารสัตว์ด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แร่ธาตุและน้ำบริสุทธิ์ เขาพบว่าสารบริสุทธิ์เหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้สัตว์เจริญเติบโตและตั้งสมมติฐานว่าน่าจะมีสารอาหารชนิดหนึ่งที่มีปริมาณเล็กน้อยแต่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต ต่อมาสารดังกล่าวคือ "วิตามิน" จากการทดลองนี้ ทำให้ฮ็อปกินส์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ร่วมกับคริสตียาน ไอก์มัน ในปี ค.ศ. 1929
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ฮ็อปกินส์ได้ศึกษาเนยเทียมและแนะนำให้ผสมวิตามินลงในเนยเทียมเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ
ในปี ค.ศ. 1921 ฮ็อปกินส์ค้นพบกลูตาไธโอนในเนื้อเยื่อสัตว์ ในครั้งแรกเขาเสนอว่ากลูตาไธโอนเป็นสารประกอบระหว่างกรดกลูตามิกชนิดไดเพปไทด์กับซิสเทอีน แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1929 เขาเสนอใหม่ว่าเป็นกรดกลูตามิกชนิดไตรเพปไทด์ ซิสเทอีนและไกลซีน ข้อเสนอนี้ได้รับการยืนยันจากงานของเอ็ดเวิร์ด แคลวิน เคนดัลล์
เฟรเดอริก กาวแลนด์ ฮ็อปกินส์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1947 ที่เมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เฟรเดอริก_กาวแลนด์_ฮ็อปกินส์